เรื่องของการบริหารทรัพยากรบุคคลเป็นเรื่องสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ หรือเล็ก หรือแม้แต่ Startup เองเรื่องของการบริหารทรัพยากรบุคคลก็มีความสำคัญไม่น้อยเลยทีเดียว บางคนอาจจะสงสัยว่าธุรกิจ Startup ที่มีพนักงานไม่เยอะ จำเป็นต้องมีการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างเป็นระบบด้วยหรือ คำตอบก็คือ จำเป็นครับ องค์กรไม่ว่าขนาดใหญ่ หรือเล็กแค่ไหน ถ้าเมื่อไหร่ต้องมีการอาศัยทรัพยากรบุคคลเข้ามาทำงานให้แล้ว เรื่องของการบริหารทรัพยากรบุคคลก็ถือว่ามีความสำคัญทั้งสิ้น
ด้วยการเป็น Startup มันก็มีข้อได้เปรียบ และข้อจำกัดของการวางระบบบริหารทรัพยากรบุคคลอยู่เหมือนกัน เช่นเดียวกับองค์กรขนาดใหญ่ ก็มีทั้งข้อได้เปรียบและเสียเปรียบเช่นกัน
เรามาดูข้อได้เปรียบที่ Startup มีในเรื่องของการวางระบบบริหารทรัพยากรบุคคลกัน
- สร้างวัฒนธรรมองค์กรได้ง่าย องค์กรแบบ Startup ที่มีขนาดเล็ก และมีพนักงานจำนวนน้อย จะมีข้อได้เปรียบในเรื่องของการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กร และค่านิยมในการทำงานให้กับพนักงานทุกคนในองค์กรได้ง่ายมาก ตัว CEO สามารถที่จะเลือกพนักงานที่มีความเข้ากันได้ในสไตล์การทำงานได้เองโดยตรง และสามารถที่จะสร้างวัฒนธรรม และค่านิยมองค์กรให้อยู่ในการทำงานประจำวันได้ง่าย เมื่อเทียบกับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีลำดับชั้นการบังคับบัญชามากมาย
- วางแผนกลยุทธ์องค์กร และกลยุทธ์ในการบริหารทรัพยากรบุคคลได้ง่าย เนื่องจากองค์กรขนาดไม่ใหญ่ และมีเป้าหมายที่ชัดเจน จึงทำให้การกระจายเป้าหมาย และการวางแผนกลยุทธ์ขององค์กรเป็นไปได้ง่าย รวมทั้งสามารถที่จะเชื่อมโยงกลยุทธ์ธุรกิจให้เข้ากับกลยุทธ์การบริหารทรัพยากรบุคคลได้ง่ายอีกด้วย
- สร้างระบบบริหารผลงาน ข้อได้เปรียบอีกเรื่องก็คือ Startup สามารถที่จะสร้างระบบบริหารผลงานได้ไม่ยาก การเชื่อมโยงเป้าหมายจากระดับสูงสุดลงสู่ระดับปฏิบัติการนั้น ทำได้ง่าย ไหลลื่นมากกว่าองค์กรขนาดใหญ่ เวลาประเมินผลงานพนักงาน ก็สามารถที่จะใช้การพูดคุยกัน และการนำเอาหลักฐานและข้อเท็จจริงในการทำงานมาแสดงให้เห็นกันอย่างชัดเจน สามารถที่จะใช้ระบบการให้ Feedback และ Coaching ได้ง่ายกว่าองค์กรขนาดใหญ่
ส่วนระบบ HR ที่อาจจะมีข้อจำกัดสำหรับกลุ่ม Startup ก็คือ
- ระบบบริหารค่าจ้างเงินเดือน เนื่องจากพนักงานมีน้อย มีตำแหน่งงานไม่เยอะนัก การที่จะวางระบบบริหารค่าตอบแทนแบบใหญ่โตนั้น จะทำได้ยาก ดังนั้นส่วนใหญ่ Startup ก็จะมีระบบการบริหารค่าตอบแทนแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แต่อาจจะไม่เป็นไปตามแนวคิดในการบริหารค่าตอบแทนแบบ 100% เหมือนองค์กรขนาดใหญ่
- ระบบความก้าวหน้าในสายอาชีพ ด้วยโครงสร้างองค์กรที่เล็ก จำนวนตำแหน่งงานที่น้อย ก็เลยออกแบบเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพของตำแหน่งงานได้ยาก ไม่สามารถที่จะออกแบบลำดับขั้นในการเติบโตของตำแหน่งงานได้มากขั้น บางองค์กรอาจจะไม่มีเลยด้วยซ้ำไป แต่สิ่งที่ดีก็คือ ตัวงานมันจะท้าทายไปตามสภาพของธุรกิจที่ต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น ตำแหน่งงานใน Startup อาจจะไม่มีการขยับหรือเปลี่ยนแปลงอะไรมาก แต่ตัวเนื้อหางานจะมีการเปลี่ยนแปลงและท้าทายคนทำงานอยู่ตลอด ซึ่งลักษณะนี้ก็ถือเป็นความก้าวหน้าในสายอาชีพลักษณะหนึ่ง เพียงแต่จะไม่เหมือนกับองค์กรขนาดใหญ่ที่ไต่จากพนักงาน ไปเป็นพนักงานอาวุโส แล้วก็ไต่ต่อไปเรื่อยๆ ตามผังองค์กร
- Onboarding ระบบการต้อนรับพนักงานใหม่ในช่วงแรกของการทำงาน ก็อาจจะทำได้ยากหน่อยสำหรับ Startup เนื่องจากจำนวนคนน้อย อาจจะไม่มีใครสามารถที่จะเป็นพี่เลี้ยงดูแลได้อย่างองค์กรขนาดใหญ่เขาทำกัน แต่ Startup ก็ต้องสร้างแนวคิด และค่านิยมในการทำงานในแบบที่เข้ามาปุ๊บสามารถที่จะลุยงานได้เลย โดยที่พนักงานใหม่จะต้องรับทราบด้วยตนเองว่า จะต้องเรียนรู้ระบบงาน และสอบถามเอาจากพนักงานที่อยู่มาก่อน
ปัญหาหลักของการนำระบบ HR ที่ดีๆ เข้ามาใช้ในธุรกิจ Startup ก็คือ
- ปัญหาเรื่องเวลา และการ Implement ระบบใหม่ เนื่องจากผู้บริหารจะต้องลุยงานเองทั้งด้านธุรกิจ และด้านการบริหารภายในองค์กร และการบริหารคน การนำเอาระบบ HR เข้ามาใช้ก็จะติดปัญหาตรงที่เวลาของผู้บริหารอาจจะน้อยเกินไป หรือเป็นปัญหาเรื่องการขาดคนในการนำเอาระบบที่วางไว้ไปใช้งานจริง ผมเคยไปวางระบบให้กับ Startup สุดท้ายก็จะติดปัญหาตรงที่ระบบที่วางไว้ CEO ชอบมาก และสั่งการให้ใช้งานจริง แต่ติดตรงที่ขาดคนที่จะบริหารจัดการระบบเหล่านี้ การที่จะจ้าง HR เข้ามาดูแลเต็มตัว ก็ดูเหมือนกับว่า CEO จะไม่ค่อยแห็นด้วยสักเท่าไหร่
- ปัญหาเรื่องงบประมาณ ในการวางระบบ HR นั้น Startup มักจะใช้ที่ปรึกษาเข้ามาวางระบบให้ ซึ่งการใช้บริการที่ปรึกษาก็มีค่าใช้จ่าย ซึ่งบาง Startup ถือว่า เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก จนบางครั้งต้องยอมที่จะบริหารจัดการแบบไม่มีระบบไปก่อน
อย่างไรก็ดี ก็ยังคือว่า Startup มีข้อได้เปรียบอยู่หลายอย่างในการที่จะมีระบบงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลที่ชัดเจน และเป็นระบบระเบียบ มากกว่าการบริหารแบบไปเรื่อยๆ พอถึงเวลามีปัญหาก็แก้ไขกันไปตามสถานการณ์ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ ก็จะทำให้การทำธุรกิจหยุดชะงักไปได้ง่าย
ท่านผู้บริหาร Startup ลองพิจารณาดูนะครับ
ใส่ความเห็น