พูดถึงเรื่อง Career Path ผู้บริหารในหลายองค์กรก็ยังเข้าใจว่า เป็นการเติบโตในสายบริหาร กล่าวคือ พนักงานจะเติบโตจาก ตำแหน่งพนักงาน แล้วต้องขยับขึ้นไปเป็น Supervisor และต่อไปเป็น Sr. Supervisor แล้วก็ไปเป็น Asst. Manager แล้วจากนั้นก็ไปเป็น Director ฯลฯ
พอคิดแบบนี้ ก็เลยทำให้เกิดผลที่ไม่ค่อยถูกต้องนัก ก็คือ บางบริษัท พนักงานเกินกว่าครึ่งมีตำแหน่งเป็น manager บางแห่ง เกือบ 100% มีตำแหน่ง Manager แต่พอเข้าไปศึกษาลึกๆ แล้ว ก็ปรากฏว่า เป็น Manager แค่เพียงชื่อเท่านั้น แต่งานยังคงเป็นแบบพนักงานเหมือนเดิม ลักษณะนี้ ก็ไม่ใช่การบริหาร Career Path ที่ถูกต้องเช่นกัน
ทางออกที่สามารถช่วยได้ก็คือ การสร้าง เส้นทางสายอาชีพอีกเส้นหนึ่ง ที่เป็นสายวิชาชีพเฉพาะทางขึ้น โดยให้มีค่างานที่เทียบเท่ากับระดับบังคับบัญชาได้
กลุ่มงานที่เหมาะสำหรับการออกแบบเส้นทางแบบสายวิชาชีพก็เช่น กลุ่มงาน บัญชี การเงิน กฎหมาย บุคคล วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ ฯลฯ โดยมากจะเป็นกลุ่มงานที่ต้องใช้วิชาชีพเฉพาะทาง และสามารถที่จะออกแบบหน้างานให้ลึกลงไปได้เรื่อยๆ ตามลักษณะงานขององค์กร
แต่ข้อจำกัดก็คือ ถ้าองค์กรเรามีขนาดเล็ก ก็จะไม่สามารถที่จะออกแบบเส้นทางได้ลึกมากนัก และถ้างานมีลักษณะจำกัดมากๆ ก็จะไม่สามารถออกแบบได้ลึกเช่นกัน
สิ่งที่ควรระวังก็คือ การออกแบบ Career Path แบบนี้ ไม่ใช่คิดจะออกแบบก็ทำเลย แต่จะต้องวิเคราะห์งานอย่างละเอียดว่างานของบริษัทนั้นมีความลึกสักแค่ไหน ในแต่ละสายวิชาชีพ โดยพิจารณาจากภารกิจของงานในบริษัทเป็นหลัก มิฉะนั้น พนักงานก็จะออกแบบให้มีทางโตไปได้เรื่อยๆ โดยที่จริงๆ แล้วงานอาจจะไม่ได้ลึกขึ้นอีกแล้ว และบริษัทเองก็จะไม่ได้รับมูลค่าเพิ่มอะไรจากพนักงานที่เติบโตขึ้นไปเลย นี่ก็คือสิ่งที่ต้องระวังอย่างมาก ในการออกแบบเส้นทางความก้าวหน้าสายอาชีพในงานวิชาชีพต่างๆ
และพอมีแนวคิดที่ว่า การเติบโตในสายอาชีพ เราสามารถทำเป็นกลุ่มวิชาชีพได้ ผลที่ออกมาก็คือ ทุกฝ่ายพยายามที่จะสร้างเส้นทางความก้าวหน้าทางสายอาชีพให้กับทุกตำแหน่ง โดยไม่มีการพิจารณาให้ถ่องแท้ก่อนว่า นี่คือสายอาชีพจริงๆ สำหรับองค์กรหรือตำแหน่งงานนั้นๆ หรือไม่ ทุกตำแหน่งในองค์กรสามารถที่จะสร้างเส้นทางความก้าวหน้าได้ทุกตำแหน่งจริงๆ หรือ เน้นนะครับว่า ตำแหน่งงาน
ตัวอย่างก็คือ บางองค์กรพยายามสร้างเส้นทางความก้าวหน้าทางสายอาชีพ ให้กับบางตำแหน่งงาน ซึ่งมองแล้วไม่ค่อยจะเห็นความยากของงานที่จะสามารถออกแบบเส้นทางสายอาชีพของงานนั้นได้มากนัก เช่น พนักงานขับรถ พนักงานพิมพ์ดีด พนักงานธุรการ ฯลฯ แต่ก็ยังคงมีการออกแบบให้เป็น พนักงานขับรถ จากนั้นก็เลื่อนเป็นพนักงานขับรถอาวุโส แล้วก็ต่อด้วยผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการขับรถ หรือ ตำแหน่งพนักงานพิมพ์ดีด ก็ขยับมาเป็นพนักงานพิมพ์ดีดอาวุโส แล้วก็มาเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการพิมพ์ดีด
คำถามก็คือ นี่คือ Career Path ที่ถูกต้องจริงๆ หรือ
ใส่ความเห็น