เรื่องของการสร้างแรงจูงใจนั้น มีวิธีการมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้สิ่งที่จับต้องได้เป็นเครื่องมือ ซึ่งก็คือ เงิน และรางวัลตอบแทนต่างๆ ที่จับต้องได้ มีมูลค่าชัดเจน เครื่องมืออีกด้านหนึ่งก็คือ สิ่งที่จับต้องไม่ได้ ก็คือ ความรู้สึกที่ดีต่องาน ต่อการทำงาน ต่อคนที่ทำงานด้วย ฯลฯ มีข้อถกเถียงกันเยอะครับว่า รางวัลที่จับต้องได้ กับรางวัลที่จับต้องไม่ได้ อันไหนที่จะมีผลต่อแรงจูงใจในการทำงานของพนักงานมากกว่ากัน
ในมุมขององค์กรที่ต้องการให้พนักงานมีแรงจูงใจในการทำงาน ผู้บริหารองค์กรส่วนใหญ่ก็มักจะมองไปที่เรื่องของการให้ค่าตอบแทนแก่พนักงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินเดือน โบนัส และค่าตอบแทนจูงใจต่างๆ เป็นหลัก เพราะผู้บริหารกลุ่มนี้คิดว่า พนักงานเข้ามาทำงานก็เพราะอยากได้ค่าตอบแทน ดังนั้น ถ้าเราสามารถที่จะต้องสนองความต้องการจุดนี้ของคนทำงานได้ ก็น่าจะสร้างแรงจูงใจที่ดีให้กับพนักงานได้
ด้วยเหตุผลข้างต้น ก็เลยทำให้องค์กรต่างๆ พยายามแข่งขันกันในเรื่องของค่าจ้างเงินเดือนอย่างมาก บางองค์กต้องมีการตรวจสอบว่าตนเองจ่ายได้ดีแค่ไหน เหนือว่าคนอื่นแค่ไหน เพื่อที่จะได้เอาความโดดเด่นตรงนี้เป็นจุดขาย ทำให้คนอื่นอยากเข้ามาทำงานกับที่นี่ และพนักงานเดิมที่ทำงานอยู่ ก็จะได้ไม่อยากจากองค์กรนี้ไปไหน เพราะเรื่องค่าตอบแทน
ค่าตอบแทนจูงใจได้ขนาดนั้นจริงๆ หรือ บางคนก็เถียงว่ามันคงไม่ขนาดนั้น ถ้าทำได้ก็ทำได้แค่เพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น และถ้าให้แล้ว ไม่ให้ พนักงานก็จะไม่ทำต่อ จริงหรือไม่ ก็มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งออกมา
ฝรั่งเขาทำวิจัยเรื่องว่า การให้โบนัส จะสร้างแรงจูงใจอย่างต่อเนื่องได้ดีแค่ไหน โดยแบ่งพนักงานออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งบอกพนักงานไปว่า ถ้าสามารถทำยอดผลิตได้ถึงเป้าหมายในเดือนธันวาคม ก็จะได้โบนัสก้อนใหญ่
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งไม่มีเรื่องของเงินรางวัล แต่สั่งให้ผู้จัดการให้การชื่นชมพนักงานเป็นระยะๆ เวลาที่พนักงานทำงานได้ดี ถึงเป้าหมายในแต่ละวันกันเลย
ผลที่ได้จากการวิจัยนี้ก็คือ ยอดเป้าหมายการผลิตของกลุ่มแรก จะกระเตื้องขึ้นในช่วงปลายปีอย่างแรงมากๆ และหลังจากที่พนักงานได้รับโบนัสไปแล้ว พลังการทำงานจะหายไปเลยในช่วงต้นปี พนักงานมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงปลายปี จากเคยขยันก็เลิกขยัน จากเคยตั้งใจทำงาน ก็เลิกตั้งใจ ยอดก็เริ่มตกลงมาเรื่อยๆ
แต่เมื่อเทียบกับอีกกลุ่ม ที่ไม่มีการตกลงเรื่องของการให้โบนัส แต่ให้ผู้จัดการให้คำชม อยู่สม่ำเสมอ ผลที่ออกมาก็คือ พนักงานมีความตั้งใจทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าผลผลิตจะได้ตามเป้าหมายแล้วก็ตาม ปีต่อไป ก็ยังคงแสดงพฤติกรรมในการทำงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง
จากการทดลองนี้ ทางผู้ทำการทำลองก็สรุปง่ายๆ ว่า เงินจูงใจได้ก็จริง แต่ถ้าไม่ให้ ผลงานจะยิ่งแย่กว่าเดิม เพราะพนักงานรับรู้ว่า ทำถึงได้ ดังนั้น ถ้าบริษัทไม่ให้ ก็ไม่ทำดีกว่า แต่อีกกลุ่มหนึ่ง ไม่มีการรับรู้เรื่องเงินรางวัล แค่รู้ว่า ทำดีแล้วมีนายชื่นชม แรงจูงใจมันเกิดขึ้นต่อเนื่อง ไม่ตกเหมือนกลุ่มแรก
ท่านผู้อ่านลองนำไปคิดต่อยอดดูว่าถ้าจะสร้างแรงจูงใจอย่างต่อเนื่อง เราจะเอากรณีศึกษานี้ไปใช้ในการทำงานได้อย่างไร
อีกกรณีหนึ่ง ฝรั่งอีกเช่นกัน เขาทำวิจัยกับโรงงานที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อันนี้แยกเป็นสองโรงงานเลย โดยทั้งสองโรงงาน จะแบ่งเป็นกระบวนการผลิตไปทีละขั้นตอน พนักงานผลิต ก็จะทำหน้าที่ผลิตชิ้นส่วนของใครของมัน เช่น ใครผลิตน็อต ก็ทำแต่น็อต ไม่ต้องทำอย่างอื่น ใครทำแผงวงจร ก็ทำแต่แผงวงจรอย่างเดียว โดยทั้งสองโรงงานตั้งเงื่อนไขเหมือนกันทางด้านค่าตอบแทน
แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ โรงงานที่หนึ่ง พนักงานทำงานหน้าที่ใครหน้าที่มัน พนักงานไม่รู้ว่า งานของตนนั้นเอาไปทำอะไรในภาพใหญ่ ไม่รู้ว่า ตนเองกำลังทำอุปกรณ์อะไรในภาพใหญ่ ทุกวันก็ทำแต่น็อตไปเรื่อยๆ เท่านั้น
กับอีกโรงงานหนึ่ง ที่มีการสื่อสารให้พนักงานรู้ถึงภาพรวมว่าที่พนักงานแต่ละคนกำลังทำอยู่นั้นมันคืออะไร และแต่ละชิ้นส่วนนั้นมันสำคัญอย่างไร มันทำให้ลูกค้าใช้งานสินค้าของเราได้อย่างไร แค่บอกแค่นี้ ผลที่ได้ก็คือ พนักงานในโรงงานที่สอง ทำงานด้วยความสนุก กระตือรือร้น และทำงานด้วยความภาคภูมิใจว่า ตนเองกำลังสร้างสินค้าในระดับโลก ที่ส่งออกขายทั่วโลก และทำให้คนทั่วโลกต้องรอคอยเพื่อที่จะซื้อมัน พลังในการทำงานของพนักงานเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลงาน คุณภาพงานออกมาดี ของเสียน้อยมาก เมื่อเทียบกับโรงงานแรก ที่พนักงานทำงานไปตามหน้าที่ของตนเองเท่านั้น โดยไม่รู้ว่าภาพรวมที่ตนเองกำลังทำนั้นมันคืออะไรกันแน่
จากงานวิจัยสองงานข้างต้น ก็พอที่จะสรุปได้ว่า เงินไม่ใช่เรื่องไม่สำคัญนะครับ แต่ให้แล้วจะต้องมีเรื่องอื่นประกอบด้วย ซึ่งก็คือ เรื่องของพลังใจ การได้รับการยอมรับ และรู้สึกว่าตนเองสำคัญ และการที่ทำให้พนักงานรู้ว่า เขาคือหนึ่งในความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของสินค้าและของบริษัท สิ่งเหล่านี้จะสร้างพลัง และสร้างแรงจูงใจให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องระยะยาว ในแบบที่เงินและค่าตอบแทนสร้างไม่ได้เลย
เหมือนกับที่ว่า คนงานคนหนึ่งบอกว่า กำลังก่ออิฐ แต่อีกคนบอกว่า กำลังสร้างประราชวังที่ใหญ่ที่สุดในโลก
แค่นี้ก็รู้แล้วว่า ใครมีพลังในการทำงานมากกว่ากัน
ใส่ความเห็น