ท่านผู้อ่านหลายท่านน่าจะเคยได้ยินคำกว่า Gig Worker ฝรั่งใช้คำนี้กันบ่อยมาก ฟังแล้วก็เหมือนกิ๊กในภาษาไทยบ้านเรา Gig worker ก็คือ พนักงานที่ไม่ใช่พนักงานประจำของบริษัท สามารถทำงานกับบริษัทเราได้ และไปทำงานกับหลายๆ บริษัทได้ (เหมือนมีกิ๊ก คือ ไปทำงานกับบริษัทอื่นๆ ด้วย) หลายคนก็เรียกพนักงานลักษณะนี้ว่า Freelance ก็ได้เช่นกัน
จากงานวิจัยของ SHRM ของสหรัฐอเมริกา พบว่า คนทำงานในยุคปัจจุบันนี้ มักจะชอบทำงานแบบ Gig ก็คือ ไม่ต้องการเป็นพนักงานประจำของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่ใช้ความรู้ความสามารถของตนเอง ในการทำงานให้กับหลายๆ บริษัทได้ โดยที่ลักษณะงานที่ทำนั้น มักจะเป็นงานที่ไม่จำเป็นต้องเข้ามานั่งทำงานในบริษัท สามารถนั่งทำงานจากที่ไหนก็ได้
หรือถ้าต้องเข้ามา ก็จะมีการกำหนดวันที่จะเข้ามาในบริษัทว่า เป็นวันใด เวลาใด ส่วนเวลาอื่น ก็ไปทำงานให้กับบริษัทอื่นต่อไป
ข้อดีของ Gig worker สำหรับองค์กรก็คือ ทำให้องค์กรประหยัดต้นทุนในการบริหารพนักงานลงไปได้มาก โดยเฉพาะเรื่องของพื้นที่ในการทำงาน สวัสดิการในการทำงาน เราจ่ายเฉพาะค่าจ้างในส่วนที่ตกลงกันเท่านั้น
ส่วน Gig worker ก็มักจะชอบงานในลักษณะนี้ก็เพราะว่า เขาไม่ต้องเข้ามานั่งประจำในบริษัท สามารถทำงานกับบริษัทอื่นเพิ่มเติมได้อีก ซึ่งทำให้เขาได้รายได้มากขึ้น อีกทั้งยังไม่ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับของบริษัทด้วย เพราะถือว่า ไม่ใช่พนักงานประจำ การทำงานก็จะมีอิสระมากกว่า
ลักษณะงานที่นิยมในลักษณะ Gig worker ก็เช่น งานที่ต้องอาศัยความรู้เชิงเทคนิคเยอะหน่อย เช่น งาน IT งานออกแบบและดูแลเว็บไซต์ งานบัญชี งานธุรการ รวมถึงงาน HR ก็สามารถทำได้เช่นกัน
ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกานั้น มีพนักงานที่ทำงานในลักษณะนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จนบริษัทต่างๆ ก็ต้องเริ่มวางมาตรการในการบริหารจัดการพนักงานกลุ่มนี้มากขึ้นเช่นกัน
ประเทศไทยเอง แนวโน้มก็น่าจะมีพนักงานในลักษณะนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน แต่บ้านเราอาจจะเรียกว่า Freelance ซึ่งจะว่าไป เดี๋ยวนี้ก็เห็นทำกันเยอะ รับงานได้หลายบริษัท ไม่ต้องเข้าบริษัท ทำงานอิสระ
ด้วยความอิสระแบบนี้ ก็เลยต้องมีการวางกรอบ และวิธีการทำงานร่วมกันอย่างชัดเจน ซึ่งโดยทั่วไป ก็มักจะเป็นการเซ็นสัญญาร่วมกันว่าจะต้องเข้ามาทำงานสัปดาห์ละกี่วัน ทำอะไรบ้าง และงานที่จะต้องส่งมอบมีอะไรบ้าง คุณภาพของงานที่ส่งมอบจะต้องเป็นอย่างไร เป็นต้น และถ้าไม่สามารถทำงานได้ตามที่ตกลงกันไว้ ก็จะมีมาตรการในการลงโทษด้วยเช่นกัน
เพื่อนผมเป็นผู้บริหารองค์กรหนึ่ง ก็มีจ้างพนักงานแบบ Freelance เข้ามาทำงาน ซึ่งงานนี้เป็นงานโครงการ เด็กกลุ่มนี้ก็ดูดี มีฝีมือในการทำงาน แต่ติดตรงที่ชอบอิสระ และมีอีโก้อยู่พอตัว ทำงานกันไปสักพัก ทิ้งงานไปซะเฉยๆ แถมยังบอกกับเพื่อนผมว่า เงินผมไม่เอาก็ได้ ค่าจ้างงวดแรกๆ ที่จ่ายมานั้น เดี๋ยวจ่ายคืนให้ทั้งหมด แต่ขอเลิกทำงานกับบริษัทนี้
เจอเข้าไปแบบนี้ก็แย่สิครับ เพราะงานของบริษัทต้องเดินหน้าต่อ แต่มาติดที่กลุ่ม Freelance นี้ ที่ทิ้งงานกันแบบตั้งใจ ซึ่งผมคิดว่า เหตุการณ์แบบนี้น่าจะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต
ดังนั้นถ้าบริษัทใด ที่เริ่มคิดที่จะจ้าง Gig เข้ามาทำงาน ก็ขอให้วางระเบียบวิธีการทำงานกันให้ชัดเจน ทำสัญญาในการส่งมอบงานให้ชัดเจน และเข้าใจตรงกันมากที่สุด รวมถึงเงื่อนไขที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำผิดสัญญา หรือไม่ส่งมอบงาน จะต้องมีกำหนดบทลงโทษไว้ มิฉะนั้น ผลเสียจะเกิดกับทางบริษัทเรามากกว่า
อาจจะมีสักวันที่พนักงานประจำของเรา ขอแปลงร่างเป็น Gig กันหมด มันก็เป็นได้นะครับ
ใส่ความเห็น