เรื่องของภาวะผู้นำนั้น มีตำรามากมาย มีหลักสูตรมากมาย มีแนวทางหลากหลายแนวทางที่จะพัฒนา แต่ละองค์กรก็พยายามที่จะสร้างผู้นำรุ่นใหม่ให้ขึ้นมาบริหารองค์กรให้ได้ แต่ไม่ว่าแนวทางใดก็ตาม คนที่เป็นผู้นำได้ สามารถที่จะนำคนอื่น และทำให้คนอื่นยอมตามได้นั้น ล้วนอยู่ที่เรื่องของ Trust หรือความน่าเชื่อถือ และความเชื่อมั่นที่ผู้ตามมีต่อตัวผู้นำนั่นเอง
ผู้นำบางคนเป็นผู้นำแต่เพียงตำแหน่ง โดยที่ผู้ตามไม่มีความรู้สึกว่าอยากจะตามเลยก็มี บางคนไม่สามารถที่จะสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นได้ในจิตใจของผู้ตามได้เลย แล้วมีอะไรบ้างที่เป็นปัจจัยทำลายความน่าเชื่อถือเหล่านี้ ให้หายไปในตัวของผู้นำ
- ขาดความชัดเจน สิ่งแรกที่บั่นทอนความน่าเชื่อถือในตัวผู้นำลงไปก็คือ ผู้นำที่ขาดความชัดเจนในเรื่องของเป้าหมาย และทิศทางขององค์กร เวลาที่พนักงานถามเรื่องเป้าหมายองค์กร ก็มักจะตอบไม่ได้ หรือบางคนยังมีการสั่งให้ผู้บริหารระดับรองๆ ลงไป เป็นคนช่วยคิดว่า เป้าหมายขององค์กรคืออะไร ถ้าผู้นำไม่รู้ว่าจะเดินไปทางไหน อนาคตขององค์กรจะเป็นอย่างไร ก็คงไม่มีพนักงานคนไหนที่อยากจะเชื่อมั่นในตัวผู้นำแบบนี้แน่นอน
- ไม่รักษาสัญญา ผู้นำที่สัญญาว่าจะทำ แต่พอถึงเวลากลับไม่ทำ แต่กลับมีข้ออ้างมากมาย เพื่อมาเป็นเหตุผลว่า ที่ไม่ทำตามสัญญานั้นเป็นเพราะอะไร เราอาจจะรู้สึกว่า เขามีเหตุผล แต่ถ้าเป็นแบบนี้บ่อยๆ เข้า ก็คงไม่ใช่เรื่องปกติที่ผู้นำเขาเป็นกัน ผู้นำที่ดี ถ้ายังไม่มั่นใจอะไร ก็จะไม่พูดออกมา เพราะคำพูดที่พูดออกมาจากปากผู้นำนั้น ถือว่า เป็นคำมั่นสัญญา ที่พนักงานรับทราบและรับฟังไปแล้ว จะมาบอกว่า พูดเล่นๆ คงไม่ได้ ดังนั้นจงอย่าคะนองปาก พูดเพราะความคะนอง และความอวดดี เพราะเมื่อถึงเวลาที่ทำแล้วทำไม่ได้ ความน่าเชื่อถือในตัวผู้นำก็จะหายไปในทันที
- ไม่ตัดสินใจ ผู้นำบางคนไม่กล้าตัดสินใจ หรือ ตัดสินใจช้ามาก บางคนมัวแต่รอข้อมูล จนธุรกิจตามคนอื่นไม่ทัน บางเรื่องพนักงานมาถาม เพื่อขอแนวทางในการตัดสินใจ แต่กลับไม่ได้อะไรกลับไปเลย ผู้นำบางคนรับข้อมูลมาทั้งหมดแล้ว แต่กลับปล่อยให้เรื่องยืดยาวออกไป พยายามเลี่ยง ไม่พูด ไม่ติดตามอะไร ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ บางคนก็ทำแบบนี้จนหมดวาระของตัวเอง เพื่อให้ตนเองพ้นจากความรับผิดชอบ ผู้นำลักษณะนี้ ก็ไม่มีทางที่ได้จะรับความเชื่อถือจากพนักงานเช่นกัน
- ไม่สื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ เรื่องของการบริหารจัดการ และการนำทีมนั้น การสื่อสารภายในทีมงาน และภายในองค์กรมีความสำคัญมาก การที่ผู้นำไม่พูด ไม่สื่อ อีกทั้งพยายามที่จะเลี่ยงการสื่อสารกับพนักงานนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สมควร ผู้นำบางคนพยายามมอบหมายให้มือรอง ไปเป็นคนสื่อสาร แต่กลับไม่ได้ใจของพนักงาน เพราะจริงๆ แล้วในบางเรื่อง พนักงานต้องการได้ยินจากปากผู้นำเองมากกว่า
- ไม่คงเส้นคงวา ผู้นำบางคนบอกให้ทำแบบนั้นไปแล้ว แต่พอทำไปสักพัก กลับมาถามพนักงานว่า ทำไมถึงทำแบบไหน ใครสั่งให้ทำแบบนั้น พนักงานก็งง ก็ผู้นำเป็นคนสั่ง แต่กลับมาบอกว่าไม่ได้สั่ง เคยเจอเหตุการณ์ที่ว่ามาบ้างมั้ยครับ บางกรณีตัดสินใจไปแล้ว แต่พอถึงเวลางานมีปัญหา กลับบอกว่าไม่ได้เป็นคนตัดสินใจเรื่องนี้ แล้วก็เริ่มโยนหาคนรับผิดชอบกันต่อไป บางคนวันนี้บอกแบบนี้ พรุ่งนี้กลับบอกอีกแบบ และวันถัดไปก็กลับมาเป็นแบบเดิม วนไปแบบนี้ จนพนักงานเองก็เริ่มสับสนว่า ต้องการให้ทำอะไรกันแน่
- มีแต่ความลำเอียง เล่นพรรคเล่นพวก ประเด็นสุดท้ายที่จะลดความน่าเชื่อถือในตัวผู้นำลงก็คือ เป็นคนที่เล่นพรรคเล่นพวก พอถึงเวลาที่ตนเองได้ตำแหน่งมา ก็พยายามที่จะปลดคนเก่าออก และเอาคนของตนเองเข้ามาบริหารงานให้มากที่สุด เวลาทำงานก็มักจะเอื้อผลประโยชน์ให้กับพรรคพวก มากกว่าองค์กร ผู้นำแบบนี้อย่าคิดว่าพนักงานไม่รู้ไม่เห็นนะครับ เขาเห็นกันทั้งองค์กร เพียงแต่เขาอาจจะกลัวอิทธิพลจนไม่กล้าทำอะไร แต่เรื่องความเชื่อถือ รับรอง ผู้นำแบบนี้ไม่ได้ความเชื่อถือจากพนักงานแน่นอน
นี่คือสิ่งที่ผู้นำต้องระวัง ถ้าอยากเป็นผู้นำที่ดี ก็คงต้องระวังในเรื่องเหล่านี้ให้มาก เพราะความเป็นผู้นำที่ดีนั้น อยู่ที่เราสามารถสร้างความน่าเชื่อถือ (Trust) ให้เกิดขึ้นกับคนในองค์กรได้มากเพียงใด
และเมื่อทุกคน Trust ในตัวผู้นำ เรื่องอื่นๆ มันก็ไม่ยากแล้วครับ
ใส่ความเห็น