วันนี้นำเอานิทานและเรื่องเราดีๆ มาให้อ่านกันอีกเช่นเคยครับ สำหรับเรื่องราวของวันนี้มาจากเว็บไซต์ winbookclub.com ซึ่งแต่งโดยคุณวินทร์ เลียววาริณ นักเขียนซีไรท์ของบ้านเรา เป็นเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน ที่มันไปอย่างรวดเร็ว จนเราเองคงต้องหันมาถามตัวเองว่า เราตามการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทันบ้างหรือไม่ ลองอ่านดูนะครับ
สิงโตออกคำสั่งให้สัตว์ทั้งหลายในป่ามาเล่าเรื่องขำขันกัน เจ้าป่าประกาศว่า สัตว์แต่ละตัวต้องเล่าขำขันหนึ่งเรื่อง ถ้ามีสัตว์ผู้ฟังแม้ตัวเดียวที่ไม่หัวเราะ แสดงว่าขำขันเรื่องนั้นสอบไม่ผ่าน ผู้เล่าจะถูกสิงโตฆ่าตาย โทษฐานไม่ขำ
ลิงเป็นตัวแรกที่ลุกขึ้นเล่า ขำขันของลิงตลกมากจนสัตว์ทุกตัวหัวเราะงอหาย ยกเว้นเต่าซึ่งมองลิงด้วยความงง สายตาไม่มีแววขำเลยสักนิด ดังนั้นสิงโตจึงฆ่าลิงเสีย โทษฐานเล่าเรื่องไม่ตลก
ม้าลายเป็นรายถัดไป พอมันเล่าเรื่องจบ สัตว์ทั้งหลายก็โพล่งหัวเราะด้วยความขบขันอย่างยิ่ง ขำขันของม้าลายยอดเยี่ยมมาก แต่กระนั้นเต่าก็ยังไม่เห็นว่าเรื่องนั้นขำ สิงโตจึงฆ่าม้าลายเสีย
นักเล่ารายต่อไปคือยีราฟ แก๊กของมันตลกมากเช่นกัน แต่กระนั้นมันก็หนีไม่พ้นความตาย เพราะดูเหมือนมาตรฐานความขำของเต่าสูงเกินไป
กวางเป็นนักเล่าตัวถัดมา มันเล่าเรื่องขำขันที่ครอบครัวของมันเล่าต่อกันมาหลายชั่วรุ่นแล้ว ทุกครั้งที่เล่าก็ขำกันทั้งวงไม่เคยพลาด แต่กวางก็ไม่รอด เพราะเต่าไม่ขำเลยสักนิด
รายต่อไปคือกระรอก มันเล่าขำขันของมันไปไม่ทันจบเรื่อง เต่าก็โพล่งหัวเราะออกมาด้วยความขบขันเป็นที่สุด สัตว์ทั้งหลายมองตากันด้วยความงุนงง เพราะเรื่องที่กระรอกเล่ายังไม่จบและยังไม่ถึงจุดตลก แลเห็นเต่าหัวเราะขำกลิ้ง ร้องว่า
“โอ้ย! สุดยอด! ขำมาก ขำจริงๆ…”
สิงโตถามเต่าว่า “ขำอะไรวะ? กระรอกยังเล่าไม่จบเลย”
เต่าตอบว่า “โอ้ย! เรื่องขำขันของลิงนี่ขำจริงๆ!”
เรื่องข้างต้นนี้น่าจะเข้าข่าย ‘ตลกโหด’ เพราะความรู้สึกช้าของเต่าทำให้เพื่อนสัตว์ตายไปหลายตัว แต่ในโลกของความจริง เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเสมอ บ่อยครั้งความรู้สึกช้าของบางคนหรือบางองค์กรก็ทำให้มีคนตายและหรือองค์กรล้มได้เช่นกัน!
เราคงเคยได้ยินเรื่องของพนักงานที่ทำงานดี ขยัน ซื่อสัตย์ ตรงต่อเวลา แต่จู่ๆ ก็ตกงาน เพราะใครคนนั้นมีความรู้สึกช้า ตามความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอกไม่ทัน ยังมีวิธีคิดและทำงานแบบเดิมอยู่ เช่นกัน องค์กรจำนวนมากทั้งเล็กและใหญ่ล้มครืนเพราะมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงของกระแสเศรษฐกิจ สังคม การเมือง
เพียงยี่สิบปีที่ผ่านมา เราพบเห็นความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วอย่างเหลือเชื่อ ยกตัวอย่างเช่น ฟลอปปีดิสก์ขนาด 8 นิ้วถูกแทนที่ด้วยฟลอปปีดิสก์ขนาด 5¼ นิ้วซึ่งก็ถูกแทนที่ด้วยฟลอปปีดิสก์ขนาด 3½ นิ้ว แล้วฟลอปปีดิสก์ทั้งหมดก็สูญพันธุ์
เมื่อเทคโนโลยีดิจิตัลเข้ามาแทนที่อนาล็อก บริษัทฟิล์มถ่ายรูปบางแห่งสามารถปรับตัวทำกล้องดิจิตัล ที่ปรับตัวไม่ทันก็สูญพันธุ์ไป
การทำงานดีอย่างเดียวจึงไม่พอ สินค้าและบริการดีอย่างเดียว ก็ไม่พอ ประเทศมีทรัพยากรธรรมชาติธรรมชาติล้นเหลือก็ยังไม่พอ ต้องมีวิสัยทัศน์ด้วย รู้ว่าโลกภายนอกเปลี่ยนไปอย่างไร และเตรียมพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงนั้น ถ้าทำตัวเป็นเต่าขำช้า ที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ก็อาจเดือดร้อน และที่สำคัญ ยิ่งรู้สึกตัวช้ายิ่งจ่ายราคาแพง
ความรู้สึกช้ามักเกิดจาก ‘ความชาด้าน’ สิ่งที่ทำให้ชาด้านจนรู้สึกตัวช้ามีหลายอย่าง เช่น ความสุขสบายทางกาย ความมั่นคงของตำแหน่งการงาน รายได้ที่มาอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น ทำให้เชื่อว่าตัวเองปลอดภัยแล้ว แต่ทุกคนตกงานได้เสมอ ทุกองค์กรล้มได้เสมอ ใครประมาทก็ตายก่อน
นี่เป็นโลกของการแข่งขัน มันเป็นไฟท์บังคับ ไม่ว่าชอบหรือไม่ก็ตาม เราถูกบังคับให้ต้องแข่งขันโดยอัตโนมัติ
โชคดีที่ความรู้สึกช้ารักษาได้ หลักการง่ายๆ คือไม่ประมาท และมีวิสัยทัศน์
ไม่ประมาทคือเตรียมตัวให้พร้อม ทันโลก อัพเกรดตัวเอง ทำให้ทันความเปลี่ยนแปลงของโลก
มีวิสัยทัศน์คือมองกว้างมองไกล อ่านสถานการณ์ออก แม้ในช่วงที่เหตุการณ์ทุกอย่างเป็นปกติอย่างที่สุด
แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ!
คนจำนวนมากตกงานตอนแก่เพราะใจเย็น คิดว่าไม่เป็นไร งานมั่นคงแล้ว เราซื่อสัตย์กับองค์กรมาโดยตลอด ตัวเองปลอดภัยแล้ว ไม่เคยคิดอัพเกรดสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวเอง ไม่เคยเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังมา
อ่านจบแล้ว ท่านผู้อ่านคิดอย่างไรครับ ตอนนี้เรากำลังรู้สึกช้าไปหรือเปล่า??
ใส่ความเห็น