หลายท่านคงเคยได้ยินมาบ้างว่า พนักงานใน Generation ใหม่ๆ เช่น Gen Y และ Gen ต่อไปที่กำลังจะเข้ามาสู่ตลาดแรงงานแล้ว ก็คือ Gen Z ต่างก็มีจุดที่แตกต่างจาก Gen X และ กลุ่มพนักงานอาวุโสซึ่งก็ทยอยที่จะเกษียณอายุออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ องค์กรก็จะเริ่มเต็มไปด้วยเด็กรุ่นใหม่ ที่เติบโตมากับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างไปจากในอดีตอย่างมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตส่วนตัว และชีวิตการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง
และด้วย เทคโนโลยีที่มีแนวโน้มว่าจะยิ่งก้าวหน้าและเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทั้งชีวิตส่วนตัวและการทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างแยกกันไม่ออก ก็ย่อมจะมีผลต่อการทำงานในยุคปัจจุบันต่อเนื่องไปถึงอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และด้วยสาเหตุนี้เองที่ทำให้เรื่องของการบริหารสวัสดิการพนักงานในยุคนี้เริ่มมีลูกเล่นมากขึ้นๆ เริ่มมีสวัสดิการแปลกๆ ใหม่ๆ มากขึ้น
สวัสดิการที่มักจะมาแรง และเป็นที่นิยม ซึ่งเป็นผลมาจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ก็คือ สวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับวัน และเวลาทำงาน โดยเฉพาะกับบางธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีมากๆ และไม่เกี่ยวข้องกับการผลิต ก็มักจะสามารถนำเอาสวัสดิการเหล่านี้ไปปรับใช้ได้มากกว่า ผมก็เลยรวบรวมเอาสวัสดิการยืดหยุ่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ วันและเวลาทำงานมาให้อ่านกัน เผื่อจะเป็นแนวทางในการนำไปปรับสวัสดิการของบริษัทตนเองได้
- เวลาทำงานที่ยืดหยุ่นแต่ยังมีกรอบกำหนดไว้ เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกๆ ที่ทำกันเลยก็ว่าได้ เพราะทำได้ง่าย บริษัทเองก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรมากขึ้นไปกว่าเดิม แค่เพียงอาจจะต้องมีการตรวจสอบเรื่องของเวลาเข้าออกของพนักงานมากขึ้น ซึ่งด้วยเทคโนโลยี ก็ทำได้ไม่ยากอยู่แล้ว บางบริษัทมีการกำหนดเป็น 3 ช่วงเวลาเข้างาน เลิกงาน โดยส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในช่วงตั้งแต่ 00 – 9.00 น. ก็ให้ยืดหยุ่นได้ในช่วงเวลาที่กำหนดนี้ และไปเลิกงานในเวลาที่นับไปอีก 8 ชั่วโมงนับจากเวลาที่เข้างานมา
- เวลาทำงานที่ยืดหยุ่นแบบไม่มีกรอบกำหนด บางบริษัทโดยเฉพาะบริษัทที่ทำงานแบบไม่จำเป็นต้องเข้าบริษัทก็ได้ อาศัยวัดกันที่ผลงานที่ได้ ก็มักจะเริ่มมีการกำหนดเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยไม่มีกรอบว่าจะต้องมากี่โมง กลับกี่โมง แต่ขอให้มาทำงานทุกวัน อาจจะมาแต่เช้า แล้วกลับก่อนก็ไม่ว่ากัน หรือจะมาสาย แล้วอยู่ทำงานจนดึก หรือมาสาย กลับเร็ว เพียงแต่ผลงานที่กำหนดไว้ จะต้องเสร็จ และได้คุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
- ใช้เวลาทำงานแบบสะสม วิธีนี้ยังไม่เคยเห็นในบ้านเราสักเท่าไหร่ ก็คือ กำหนดชั่วโมงทำงานไว้ต่อสัปดาห์ แล้วพนักงานจะทำงานวันละกี่ชั่วโมงก็แล้วแต่สะดวก แต่รวมแล้วจะต้องได้ตามจำนวนชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์ เช่น เรากำหนดไว้ว่า สัปดาห์หนึ่ง จะต้องทำงาน 40 ชั่วโมง พนักงานอาจจะทำงานวันละ 10 ชั่วโมง และทำงาน 4 วัน อีก 3 วันที่เหลือ ก็เป็นวันหยุดไป เพราะถือว่าทำงานได้ครบตามจำนวนแล้ว วิธีนี้ถ้าจะเอาไปใช้ ก็คงต้องมีการกำหนดชั่วโมงการทำงานสูงสุดต่อวันไว้ ว่าต้องไม่เกินเท่าไหร่ มิฉะนั้นพนักงานบางคนอาจจะทำงานทั้งวันทั้งคืนได้ ส่วนใหญ่ก็จะกำหนดไว้ว่า วันนึงต้องไม่เกิน 10 ชั่วโมงเต็มที่
- กำหนดวันหยุด วันลาแบบยืดหยุ่นมากขึ้น เรื่องของวันลาที่บ้านเรามีกฎหมายกำหนดไว้นั้น เราก็สามารถนำมาให้แบบยืดหยุ่นได้ กล่าวคือ มีการกำหนดวันหยุดวันลาที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม เช่น ให้ลาพักร้อนมากขึ้น ให้สิทธิลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างในจำนวนวันที่มากกว่ากฎหมายกำหนด ให้สิทธิลาในเรื่องแปลกๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ลาไปแต่งงาน ลาไปดูแลภรรยาที่คลอดบุตร ลาไปทำประโยชน์ให้กับสังคมต่างๆ ลาไปเพื่อดูแลพ่อแม่ ฯลฯ ก็เริ่มให้สิทธิเหล่านี้มากขึ้น
- ให้สิทธิทำงานนอกบริษัทได้ ลักษณะสวัสดิการตัวถัดไป ก็คือ บริษัทจะให้สิทธิพนักงานทำงานนอกบริษัทได้ 1 วันต่อสัปดาห์ เป็นอย่างน้อยนะครับ บางบริษัทก็กำหนดไว้มากกว่า 1 วันก็มีครับ โดยพน้กงานสามารถที่จะเลือกทำงานที่บ้าน หรือทำงานที่ไหนก็แล้วแต่ จะเป็นร้านกาแฟ หรือทำงานชิวๆ ที่ไหนก็ได้
- ทำงานจากที่บ้าน สำหรับบางบริษัทที่งานไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าบริษัทเลย ก็อาจจะมีบางกลุ่มงานที่สามารถทำงานที่บ้านได้เลย แต่ก็ไม่ใช่ทุกวันนะครับ ส่วนมากก็จะเป็นลักษณะว่า ทำงานที่บ้าน 4 วัน อีก 1 วันจะต้องเข้ามาบริษัทเพื่อที่จะประชุม หรือทำงานร่วมกับคนอื่น ก็เพื่อให้เกิดสังคมมากกว่า ส่วนวันที่เหลือ พนักงานเองก็สามารถที่จะวางแผนทำงานเองได้ตามแต่สะดวก แต่เงื่อนไขที่จะต้องกำหนดอย่างรัดกุมมากๆ ก็คือ ผลลัพธ์ของงานที่จะต้องได้
- เลิกการใช้สำนักงาน บางธุรกิจเริ่มที่จะเลิกเช่าพื้นที่สำนักงานแล้ว และกำหนดเป็นนโยบายทำงานที่บ้านอย่างจริงจัง โดยที่การประชุมกันก็มาประชุมกันตามร้านกาแฟ หรือ Co-working Space ที่เดี๋ยวนี้เปิดตัวอย่างมากมายในบ้านเรา โดยมากธุรกิจที่สามารถใช้แนวทางแบบนี้ได้ก็มักจะเป็นกลุ่ม Start-up หรืองานที่เป็นงานอิสระ และไม่จำเป็นที่จะต้องมีสำนักงานให้เสียค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ดี การนำเอาสวัสดิการเรื่องของเวลาทำงาน และวันหยุดวันลามาใช้ในบริษัท เราจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการบริหารจัดการเหมือนกัน จากเดิมที่จ้างพนักงานตามเวลาทำงาน ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นจ้างตามผลงานมากกว่า พนักงานจะไปทำงานที่ไหน ทำงานกี่โมงถึงกี่โมง อันนี้เราต้องไม่ไปสนใจ แต่สิ่งที่จะต้องสนใจให้มากก็คือ ผลลัพธ์ของงาน ซึ่งรวมไปถึงปริมาณงานที่ได้ คุณภาพงานที่ออกมา และระยะเวลาที่ทำงาน จะต้องได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้เช่นกัน ถ้าคิดได้แบบนี้ การเอาสวัสดิการเรื่องวัน และเวลาทำงานมาใช้ ก็จะทำได้ง่ายขึ้นครับ
นอกเหนือจากนั้น ก็คงขึ้นอยู่กับลักษณะธุรกิจของบริษัทแล้วล่ะครับ
ใส่ความเห็น